Transcendence: Body as Landscape นิทรรศการเดี่ยวศิลปินชาวไทย 22 เมษายน – 27 พฤษภาคม 2566

นิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของศิลปินชาวไทย ฉัตรมงคล อินสว่าง “Transcendence: Body as Landscape” ภัณฑารักษ์โดย นิ่ม นิยมศิลป์ จะถูกจัดแสดงขึ้นที่ ริชาร์ด โคห์ ไฟน์ อาร์ต (RKFA) แกลเลอรี่ กรุงเทพมหานคร ณ อาคารปีเตอร์สัน เลขที่ 712/1 ชั้น 9 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 ระหว่างวันที่ 22 เมษายน ถึง 27 พฤษภาคม มาร่วมกันศึกษาร่างกายของมนุษย์ที่ถูกใช้เพื่อสื่อถึงแรงบันดาลใจทางศิลปะ สำรวจรูปลักษณ์ภายนอก กายวิภาค และความหมายแฝงทางวัฒนธรรม

ประสบการณ์ส่วนตัวของฉัตรมงคล ที่เกี่ยวกับความเจ็บป่วยและความตายของคนในครอบครัว กลายเป็นแรงผลักดันให้เขาแสวงหาสัจธรรมผ่านปรัชญาของชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งถูกสะท้อนออกมาทางผลงานของเขา เขาเล่าเรื่องผ่านผลงานทั้งในรูปแบบ 2 มิติและ 3 มิติ เพื่อสื่อถึงการเสื่อมสภาพของร่างกายผ่านสิ่งที่คนมองเห็น ผลงานที่จัดแสดงได้แก่ งานประติมากรรม ผลงานบนผืนผ้าใบ และบนแผ่นอะคริลิก ซึ่งทั้งถูกดัดและบิด โดยมีจุดมุ่งหมายในการเน้นย้ำความเป็นร่างกายทั่วๆไป ที่ทั้งไร้ตัวตนและไม่มีลักษณะเฉพาะ

ฉัตรมงคล อินสว่าง Figure of breath No.1 2566
บรอนซ์ 36 x 25 x 32 ซม.

เช่นเดียวกับศิลปินคนอื่นที่ใช้ร่างกายมนุษย์เป็นตัวแทนในการนำเสนอผลงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นงานประติมากรรมคลาสสิคของกรีก ภาพเขียนผู้หญิงเปลือยของทิเชียน (ศิลปินชาวอิตาลี) และ ศิลปะเพื่อการมีส่วนร่วม (Participatory Art) ของโยโกะ โอโนะ ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ของฉัตรมงคลก็ใช้ร่างกาย รวมไปถึงการเปรียบเปรยและสัญลักษณ์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความหมายอันซับซ้อนที่มีมากกว่าเพียงเนื้อหนังและเลือด

ถ่านกับน้ำมันลินสีดบนแผ่นอะคริลิค 60 x 80 ซม. (ชิ้นงาน); 70 x 90 ซม. (กรอบ)
ฉัตรมงคล อินสว่าง Figure of Breath No.2 2566 บรอนซ์ 54 x 32 x 31 ซม.


นิทรรศการ “Transcendence: Body as Landscape” ต่อยอดมาจากผลงานล่าสุดของฉัตรมงคล อินสว่าง ความเข้มข้นของชิ้นงานและความคิดของเขาสอดประสานกันเป็นอย่างดี เห็นได้จากการเริ่มปลดปล่อยน้ำหนักและความเข้มข้นออกมาผ่านชิ้นงานของเขาในคอนเซปต์ร่างกายของมนุษย์ ผลงานชุดนี้ ฉัตรมงคล เหมือนจะปล่อยวางตัวตนและกายหยาบ ให้ร่างกายกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เช่น บางชิ้นงาน ร่างกายก็ดูเหมือนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของก้อนหินที่วางอยู่เฉยๆ บางชิ้นงาน เขาก็ทำให้ภาพของร่างกายหลอมรวมไปกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ เป็นภาพภูมิทัศน์ที่ไร้ซึ่งขอบเขต ห้ามพลาดนิทรรศการที่จะมากระตุกต่อมความคิดของทุกท่าน ที่จะจัดขึ้นที่ RKFA กรุงเทพฯ

ประวัติศิลปิน

ฉัตรมงคล อินสว่าง (เกิดปี 2523 จังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศไทย) สําเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 (พ.ศ.2546) ปริญญาโท (พ.ศ.2552) และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ทัศนศิลป์) (พ.ศ.2562) เขาได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลอิตาลี ในปี 2551 เพื่อศึกษาต่อในอิตาลีและได้รับประกาศนียบัตรด้านประติมากรรม (Hons) จาก Accademia di Belle Arti di Firenze จากนั้นเขาได้สอนที่วิทยาลัยเพาะช่างสาขาวิจิตรศิลป์ และเป็นหัวหน้าโครงการประติมากรรมตั้งแต่ปี 2557-2560 ซึ่งระหว่างนั้นเขาได้ทํางานและจัดแสดงผลงานไปด้วย

ฉัตรมงคลเริ่มศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้านประติมากรรม ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งเขาสนใจในธรรมชาติของมนุษย์มานานแล้ว ผลงานของเขาในช่วงเวลานี้จะเผยให้เห็นด้านมืดของมนุษย์ ตั้งแต่ความปรารถนาไปจนถึงความโลภ ความเกลียดชังและความอิจฉา ผ่านงานศิลปะของเขา อย่างไรก็ตามพอจบปริญญาโทและแม่ของเขามีอาการป่วย เขาก็ได้เปลี่ยนโฟกัสไปนำเสนอแง่มุมอื่น ๆของมนุษย์

เขาเริ่มค้นหาความหมายในการดํารงอยู่ของมนุษย์เรา สังเกตร่างกายของเราว่ามีการเชื่อมต่อ และถูกจัดวางในโลกของธรรมชาติอย่างไร ผลงานของเขาเริ่มโฟกัสไปที่ร่างกาย ฐานะที่เป็นแหล่งของความทุกข์ทรมาน เป็นเปลือกธรรมชาติที่ห่อหุ้มตัวของเราไว้ การหายใจและการไหลเวียนของอากาศ เคลื่อนผ่านเปลือกชิ้นนี้ เชื่อมต่อร่างกายเข้ากับสภาพแวดล้อม และช่วยยืดให้การเสื่อมสลายนานขึ้น การพัฒนานี้ชัดเจนขึ้นระหว่างที่เขาเรียนปริญญาเอกจากหัวข้อภาพ รูปแบบ และเทคนิค ส่งผลให้งานประติมากรรมของเขาแสดงลักษณะและความเป็นปัจเจกและตัวตนน้อยลง เขายังเริ่มทํางานบนพื้นผิว 2 มิติมากขึ้น ตอนนี้เขาเป็นที่รู้จักในฐานะประติมากรที่สร้างประติมากรรมและภาพวาดเส้นที่แสวงหาความหมายของชีวิต พื้นที่ภายในและภายนอก และการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

ฉัตรมงคลได้รับรางวัลมากมาย เช่น เหรียญทองแดง (ประติมากรรม) ในนิทรรศการศิลปะแห่งชาติครั้งที่ 64 (2562) และเหรียญเงิน (ประติมากรรม) นิทรรศการศิลปะแห่งชาติครั้งที่ 49 (2546) นิทรรศการของเขาได้แก่ Time-Lapse: Reflecting on Thai Art, 333 Gallery ร่วมกับสมาคมนักสะสมศิลปะไทย กรุงเทพฯ (2564), พื้นที่ 5+1 : PRECIOUS SPACE, หอศิลป์แห่งชาติ, กรุงเทพฯ (2563), Art Relation, พิพิธภัณฑ์ศิลปะอันดามัน, กระบี่ (2558), Young Blood Sculpture, PSG Gallery, Bangkok (2554) และ Opera Muta, DEA Gallery, Florence, Italy (2551) ผลงานของเขายังเป็นส่วนหนึ่งในคอลเล็กชั่นของทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, บ้านพิพิธภัณฑ์เสริมคุณ คุนาวงศ์ กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC

ปัจจุบันเขาอาศัยและทํางานอยู่ที่จังหวัดนครปฐม

ริชาร์ด โคห์ ไฟน์ อาร์ต กรุงเทพฯ

RKFA กรุงเทพฯ ยกระดับจากการเป็นพื้นที่ศิลปะชั่วคราวสัญจรไปตามที่ต่างๆ สู่การมีพื้นที่อยู่อย่างถาวร โดยจินตนาการว่า พื้นที่แกลเลอรี่แห่งใหม่นี้จะยังคงผลักดันให้ศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าถึงแพลตฟอร์มศิลปะที่แตกต่างกันทั่วทั้งภูมิภาคและที่อื่นๆมากขึ้น  โดยมีแนวคิดหลักเพื่อพัฒนาอาชีพของศิลปิน แกลเลอรี่แห่งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาผลงานศิลปะคลื่นลูกใหม่ และให้โอกาสในการเติบโตเพื่อต่อยอดได้ในระดับอุตสาหกรรม ด้วยการหมุนเวียนนิทรรศการสิ่งพิมพ์และสิ่งพิมพ์ดิจิทัลและความร่วมมือกับแกลเลอรี่อื่นๆ ริชาร์ด โคห์ ไฟน์ อาร์ต กรุงเทพฯ ทำงานร่วมผู้คนในวงการศิลปะ ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในภูมิภาคนี้