สิ่งแวดล้อม คือพื้นฐานของทุกชีวิต การใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จึงได้น้อมนำศาสตร์พระราชา “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” และแนวคิด ‘ESG’ ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม มาเป็นแนวทางในการจัดโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 37 โดยนำคณะครู-อาจารย์ ผู้บริหารองค์กรภาครัฐและเอกชน ร่วมถอดบทเรียนการดูแลสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม พร้อมทำกิจกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม ณ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จังหวัดลำปาง เพื่อเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อม และหนุนให้สังคมไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ องค์กรพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มูลนิธิธรรมดี สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย คุรุสภา และกระทรวงศึกษาธิการ จัดโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา เป็นประจำทุกเดือนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อส่งเสริมให้เยาวชน ครู-อาจารย์ และประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้าใจ เข้าถึงศาสตร์ของพระราชา และเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคต
สำหรับแนวพระราชดำริ “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” นั้น หมายถึง องค์ความรู้ด้านการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมองทุกอย่างแบบองค์รวม ทรงรู้ว่าทุกสิ่งนั้นถูกเชื่อมโยง และส่งผลต่อการเป็นวัฏจักร การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมต้องให้ความสำคัญกับทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่ฝนจากท้องฟ้าที่เป็นต้นกำเนิดของน้ำ ตกลงมาสู่ป่าเขาและผืนดิน ไหลไปสู่แม่น้ำลำคลองและท้องทะเล หล่อเลี้ยงทุกชีวิตในชุมชน ดังนั้น การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน จึงไม่สามารถมองข้ามสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ได้กล่าวถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการดูแลสังคมให้มีความมั่นคง และยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่ไปกับแนวคิด ESG ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งที่ 37 นี้ จะเป็นการตอบโจทย์ความยั่งยืนในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ที่เป็นรากฐานให้กับทุกชีวิตในสังคม โดยจะเป็นการเดินตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ได้ทรงใช้หลักในการบูรณาการภาพรวมมาบริหารจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่บนฟ้า ยอดเขา ที่ราบ มาสู่ทะเล การวางแผนการใช้น้ำอย่างเป็นระบบและรู้คุณค่า จึงจะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ได้อย่างยั่งยืน”
เพื่อเป็นการร่วมอนุรักษ์ผืนป่าและสิ่งแวดล้อม ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ร่วมกันทำกิจกรรมบวชป่า และกิจกรรมปลูกป่า ณ ป่าชุมชนบ้านสาแพะ เพื่อเป็นกุศโลบายห้ามไม่ให้คนมาตัดไม้ทำลายป่า และเพื่อคงความอุดมสมบูรณ์ของป่าธรรมชาติไว้ อีกทั้งยังช่วยให้แหล่งน้ำไม่เหือดแห้ง และที่สำคัญคือ เป็นการสร้างสำนึกให้แก่ชุมชนในการมีส่วนร่วมดูแลสภาพสิ่งแวดล้อม และยังได้เรียนรู้แนวคิดเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรูปแบบต่าง ๆ ตามแนวพระราชดำริในพื้นที่บ้านสาแพะใต้อีกด้วย เช่น “สระพวง” หนึ่งในตัวช่วยสำคัญสำหรับการบริหารจัดการน้ำบนพื้นที่สูง ที่ช่วยในเรื่องการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามแห้งแล้ง โดยมีกระบวนการเริ่มจากการขุดสระแม่ หรือสระขนาดใหญ่บนพื้นที่สูงสำหรับกักเก็บน้ำ จากนั้นเชื่อมต่อการส่งน้ำลงมายังสระลูกสระหลานในพื้นที่ที่ต่ำกว่า เพื่อใช้สำหรับทำการเกษตร
โครงการฯ ครั้งที่ 37 นี้ นับเป็นครั้งแรกที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้มีโอกาสศึกษาดูงานตัวอย่างการน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติจริง โดยองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ณ ศูนย์เรียนรู้การฟื้นฟูเหมืองปูนซีเมนต์ไทย, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จังหวัดลำปาง ที่ใช้ศาสตร์พระราชา และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร
ในโครงการยังมีกิจกรรม Workshop และการบรรยาย โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาทิ “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” ที่เป็นการถอดบทเรียนนวัตกรรมศาสตร์พระราชา พร้อมสอดแทรกคุณธรรม 5 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู และ “The King’s Journey Learn English an Example of an Invention” โดยอาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย พร้อมทั้งการบรรยายเรื่อง “คุณธรรมในยุคดิจิทัล” โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และ “ถอดรหัสพระอัจฉริยะภาพในหลวงรัชกาลที่ 9” โดย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบาย UNSDG ภายในปี 2030